วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สมุนไพรลดไขมันในเส้นเลือด




กระเจี๊ยบแดง


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus sabdariffa L.


ชื่อสามัญ : Jamaican Sorel, Roselle

วงศ์ : Malvaceae

ชื่ออื่น : กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบเปรี้ย ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง ส้มตะเลงเครง


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 50-180 ซม. มีหลายพันธุ์ ลำต้นสีม่วงแดง ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ 3 หรือ 5 แฉก กว้างและยาวใกล้เคียงกัน 8-15 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีชมพูหรือเหลือง บริเวณกลางดอกสีม่วงแดง เกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ผลเป็นผลแห้ง แตกได้ มีกลีบเลี้ยงสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มไว้


สรรพคุณ : กลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล


- เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดน้ำหนักด้วย


- ลดความดันโลหิตได้โดยไม่มีผลร้ายแต่อย่างใด


- น้ำกระเจี๊ยบทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง


- ช่วยรักษาโรคเส้นโลหิตแข็งเปราะได้ดี


- น้ำกระเจี๊ยบยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นการช่วยลดความดันอีกทางหนึ่ง


- ช่วยย่อยอาหาร เพราะไม่เพิ่มการหลั่งของกรดในกระเพาะ


- เพิ่มการหลั่งน้ำดีจากตับ


- เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น เพราะมีกรดซีตริคอยู่ด้วย


ใบ แก้โรคพยาธิตัวจี๊ด ยากัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำคอให้ลงสู่ทวารหนัก


ดอก แก้โรคนิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพราะปัสสาวะ ขัดเบา ละลายไขมันในเส้นเลือด กัดเสมหะ ขับเมือกในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก


ผล ลดไขมันในเส้นเลือด แก้กระหายน้ำ รักษาแผลในกระเพาะ


เมล็ด บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ดีพิการ ขับปัสสาวะ ลดไขมันในเส้นเลือด นอกจากนี้ได้บ่งสรรพคุณโดยไม่ได้ระบุว่าใช้ส่วนใด ดังนี้คือ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้คอแห้งกระหายน้ำ แก้ความดันโลหิตสูง กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำไส้ ลดไขมันในเลือด บำรุงโลหิต ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โรคเบาหวาน แก้เส้นเลือดตีบตัน นอกจากใช้เดี่ยวๆ แล้ว ยังใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรอื่น ใช้ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด


วิธีและปริมาณที่ใช้ : โดยนำเอากลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (หนัก 3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาและอาการอื่นๆ จะหายไป


สารเคมี : ดอก พบ Protocatechuic acid, hibiscetin, hibicin, organic acid, malvin, gossypetin


คุณค่าด้านอาหาร : น้ำกระเจี๊ยบแดง มีรสเปรี้ยว นำมาต้มกับน้ำเติมน้ำตาล ดื่มแก้ร้อนในกระหายน้ำ และช่วยป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือดได้ และยังนำมาทำขนมเยลลี่ แยม หรือใช้เป็นสารแต่งสี ใบอ่อนของกระเจี๊ยบเป็นผักได้ หรือใช้แกงส้ม รสเปรี้ยวกำลังดี กระเจี๊ยบเปรี้ยวมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "ส้มพอเหมาะ" ในใบมีวิตามินเอช่วยบำรุงสายตา ส่วนกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีสารแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง น้ำกระเจี๊ยบแดงที่ได้สีแดงเข้ม สาร Anthocyanin นำไปแต่งสีอาหารตามต้องการ




คำฝอย


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carthamus tinctorius L.


ชื่อสามัญ : Safflower, False Saffron, Saffron Thistle


วงศ์ : Compositae


ชื่ออื่น : คำ คำฝอย ดอกคำ (เหนือ) คำยอง (ลำปาง)


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 40-130 ซม. ลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านมาก ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรี รูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 1-5 ซม. ยาว 3-12 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย ปลายเป็นหนามแหลม ดอกช่อออกที่ปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อบานใหม่ๆ กลีบดอกสีเหลืองแล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีแดง ใบประดับแข็งเป็นหนามรองรับ ช่อดอก ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยม สีขาว ขนาดเล็ก


สรรพคุณ :


ดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล


- รสหวาน บำรุงโลหิตระดู แก้น้ำเหลืองเสีย แก้แสบร้อนตามผิวหนัง


- บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับระดู แก้ดีพิการ


- โรคผิวหนัง ฟอกโลหิต


- ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตัน


เกสร


- บำรุงโลหิต ประจำเดือนของสตรี


เมล็ด


- เป็นยาขับเสมหะ แก้โรคผิวหนัง ทาแก้บวม


- ขับโลหิตประจำเดือน


- ตำพอกหัวเหน่า แก้ปวดมดลูกหลังจากการคลอดบุตร


น้ำมันจากเมล็ด


- ทาแก้อัมพาต และขัดตามข้อต่างๆ


ดอกแก่


- ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง


วิธีและปริมาณที่ใช้ : ชาดอกคำฝอย ช่วยเสริมสุขภาพ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด โดยใช้ดอกแห้ง 2 หยิบมื(2.5 กรัม) ชงน้ำร้อนครึ่งแก้ว ดื่มเป็นเครื่องดื่มได้


สารเคมี : ดอก พบ Carthamin, sapogenin, Carthamone, safflomin A, sfflor yellow, safrole yellow เมล็ด จะมีน้ำมัน ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว


คุณค่าด้านอาหาร : ในเมล็ดคำฝอย มีน้ำมันมาก สารในดอกคำฝอย พบว่าแก้อาการอักเสบ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบางตัวได้ ในประเทศจีน ดอกคำฝอย เป็นยาเกี่ยวกับสตรี ตำรับยาที่ใช้รักษาสตรีที่ประจำเดือนคั่งค้างไม่เป็นปกติ หรืออาการปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว มักจะใช้ดอกคำฝอยด้วยเสมอ โดยต้มน้ำแช่เหล้า หรือใช้วิธีตำพอก แต่มีข้อควรระวังคือหญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน ใช้ดอกคำฝอยแก่ มาชงน้ำร้อน กรอง จะได้น้ำสีเหลืองส้ม (สาร safflower yellow) ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง




เสาวรส


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Passiflora laurifolia L.


ชื่อสามัญ : Jamaica honey-suckle, Passion fruit, Yellow granadilla


วงศ์ : Passifloraceae


ชื่ออื่น : สุคนธรส (ภาคกลาง)


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้เถา เถามีลักษณะกลม ใบ เป็นใบเดี่ยว ขอบใบหยักลึกที่ก้านใบมีต่อมใบ ดกหนา เป็นมันสีเขียวแก่ ดอก ออกดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ ห้อยคว่ำคล้ายกับดวงไฟโคม กาบดอกหุ้มสีเขียว กลีบชั้นนอกเป็นรูปกระบอก ปลายแฉกด้านหลังมีสีเขียวแก่ ด้านในมีสีม่วงอ่อนประกอบด้วยจุดแดง ๆ กลีบชั้นในลักษณะคล้ายกับตัวแฉกของกลีบชั้นนอกสีม่วงอ่อนหรือชมพูอ่อนมีประสีแดงแซม กลีบย่อยกลางมีเป็นชั้น ๆ สองชั้น แต่ละกลีบค่อนข้างกลม สีม่วงแก่พาดด้วยปลายสีขาวสลับแดง มีเกสรอยู่ตรงกลางสีเขียวนวล ดอกมีกลิ่นหอมแรงจัดมาก ผล เป็นรูปไข่หรือไข่ยาว มีหลายพันธุ์ บางพันธุ์ผิวผลสีม่วง สีเหลือง สีส้มอมน้ำตาล เปลือกผลเรียบ เนื้อรับประทานได้ มีเมล็ดจำนวนมากอยู่ตรงกลาง


สรรพคุณ : ลดไขมันในเส้นเลือด


วิธีและปริมาณที่ใช้ : ใช้ผลที่แก่จัด ไม่จำกัดจำนวน ล้างสะอาด ผ่าครึ่ง คั้นเอาแต่น้ำ เติมเกลือและน้ำตาลเล็กน้อย ให้รสกลมกล่อมตามชอบ ใช้ดื่มเป็นน้ำผลไม้ ลดไขมันในเส้นเลือด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น